ระบบราชการ 4.0 กับการพลิกโฉมงานด้านความมั่นคงของ กอ.รมน.
สำนักพัฒนาระบบบริหาร กอ.รมน.
บทนำ
ในยุคที่สังคมไทยต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันจากพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด
(Disruptive Technology)
ส่งผลให้เกิดปัญหาการพัฒนาขีดความสามารถในการเรียนรู้ของคนไทยที่จะไปได้ทันกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากและเข้าถึงได้ง่ายในโลกออนไลน์
ซึ่งผลที่ตามมาจากนั้นก็คือ
ความล้าหลังในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดและทักษะในการทำงานใหม่ๆ
ที่กำลังเคลื่อนเข้ามาอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบกับความรู้สึกของประชาชนที่คาดหวังให้ภาครัฐมีศักยภาพในการแก้ปัญหาได้สูงขึ้น
เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 761 ที่บัญญัติไว้ว่า
“รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น
และงานของรัฐอย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต
และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว
ไม่เลือกปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ” รัฐบาลได้กำหนด "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย
4.0" เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังกล่าว โดยกำหนดให้มี "การปฏิรูประบบราชการ 4.0"2
กำหนดการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่เพื่อให้สามารถเป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจ
และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเน้นการทำงานที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน
ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาให้มีขีดความสามารถและสมรรถนะการทำงานสูงขึ้นและมีความทันสมัย
ความสำเร็จของการพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก การสานพลังระหว่างภาครัฐและส่วนอื่น ๆ ในสังคม ประการที่สอง
การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล และประการที่สาม
ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องได้รับการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (mindset)
ให้เป็นผู้ประกอบการสาธารณะที่มี ขีดความสามารถ โดยเพิ่มทักษะการทำงานที่จำเป็น
และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันจะช่วยให้สามารถแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างคุณค่าสาธารณะและประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน
การปฏิรูประบบราชการ 4.0
ดังกล่าวเป็นโจทย์ท้าทายประการหนึ่งต่อการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
(กอ.รมน.) ด้วยเช่นกัน ในอันที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน บทบาทหน้าที่ การสร้างนวัตกรรม
และองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดงานด้านความมั่นคงให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ กอ.รมน.
ในฐานะองค์กรหลักในการบูรณาการ อำนวยการ
และประสานการปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าว
จึงขอนำเสนอแนวคิดการปฏิรูประบบราชการ 4.0 ของ กอ.รมน.
เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
อะไรคือระบบราชการ 4.0
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
พิจารณาเห็นว่า
ระบบงานราชการไทยในปัจจุบันถูกท้าทายจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำงาน
เช่น ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการบริการจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว
กระแสของเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบันที่ถาโถมเข้ามา
ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน ระบบราชการจึงต้องพัฒนาตัวเองอย่างชนิดที่เรียกว่า
“พลิกโฉม”
จากระบบที่ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะเข้ามาติดต่อทำธุรกรรมปัญหาการคอรัปชั่นที่ก่อให้เกิดความไม่เชื่อถือ
ระบบราชการจำเป็นต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทย3 ที่ว่า
“ประเทศไทยต้องมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้สอดรับกับบริบทดังกล่าว
โดยต้องทำงานยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก
โดยระบบราชการต้องพัฒนางานราชการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็ว
ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ มีผลงานที่จับต้องได้
และหากมีหน่วยงานที่มีภารกิจในการให้บริการที่คล้ายคลึงกัน ต้องสามารถบูรณาการความร่วมมือ
และงบประมาณในการทำงานด้วยกันได้
ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการรับบริการของประชาชน
การเป็นภาครัฐที่เป็นพึ่งของประชาชนและเชื่อถือไว้วางใจได้อย่างแท้จริงในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น
ภาครัฐต้องปรับตัวและพลิกโฉมเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ด้วยการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐสู่สังคมดิจิทัลภาครัฐต้องมุ่งเน้น "ความคล่องตัว"
เพื่อขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ (Agenda-based)
และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบราชการ 4.0 (Government 4.0 หรือ
Gov. 4.0)4 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งจะส่งผลให้กลไกการพัฒนาระบบราชการมีการปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ๆ
อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ
และยังเป็นการยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพที่ 1 ระบบราชการ 4.0
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า
ระบบราชการต้องเป็นที่ที่พึ่งของประชาชนและเชื่อถือไว้วางใจได้
โดยหน่วยงานต้องมีการเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน
ทั้งทางด้านข้อมูลที่เปิดโอกาสบุคคลภายนอกเข้าถึงข้อมูลได้ มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน
มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงาน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
มีการทำงานเชิงรุก
แก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยไม่ต้องได้รับการร้องขอจากประชาชน
หน่วยงานต้องมีขีดสมรรถนะที่สูงและทันสมัย มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า
สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันเวลา
รวมถึงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความทันสมัย
และสามารถสร้างให้ข้าราชการมีความผูกพันต่อการปฏิบัติราชการ
และปฏิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมกับบทบาทของตน
การส่งมอบบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการงานที่ถูกต้อง รวดเร็ว
ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากได้
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
มาขับเคลื่อนระบบ ราชการ 4.05 ด้วยการนำมาเชื่อมโยงกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
(PMQA) ที่ใช้ในการวิเคราะห์และปรับปรุงองค์การ
เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเชิงบูรณาการที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเชื่อมโยงกับคุณลักษณะ
3 มิติของระบบราชการ 4.0 ตามภาพที่ 2 ดังนี้
ภาพที่ 2 ความเชื่อมโยงของ PMQA กับระบบราชาร 4.0
ที่มา: การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0, สำนักงาน ก.พ.ร.
เกณฑ์ PMQA มีทั้งหมด7หมวด โดยในแต่ละหมวดจะสอดคล้องกับระบบราชการ 4.0
ดังนี้
หมวด 1 การนำองค์การ ซึ่งสอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 มิติที่ 1
ภาครัฐจะต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน
ในการที่ผู้นำองค์การต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และมีนโยบายที่เปิดเผยข้อมูล
มีความโปร่งใส
หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 ใน 2
มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ภาครัฐจะต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกันโดยเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์
เป้าประสงค์ขององค์การที่สำคัญ และ มิติที่ 3
การมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัยในการปรับรูปแบบการทำงานให้มีความทันสมัย
นำเอาเทคโนโลยีที่สำคัญมาช่วยในการปรับปรุงการทำงาน
หมวด 3
การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 ในมิติที่
2 การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
โดยต้องเข้าใจความต้องการของประชาชนที่มีความหลากหลายได้เป็นอย่างดี
รวมถึงมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้รับกับความต้องการของประชาชน
หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้
สอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 ใน 2มิติ ได้แก่ มิติที่ 1
ภาครัฐจะต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน โดยเน้นในประเด็นการเปิดเผยข้อมูล
การให้เข้าถึงข้อมูลของหน่วยงาน การใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานเป็นสำคัญ และมิติที่ 3
การมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัยเน้นการปรับองค์การให้มีความทันสมัยด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาภายในองค์การได้
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคลสอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 ใน 2
มิติ ได้แก่ มิติที่ 2 การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นให้บุคลากรในองค์การทำงานเชิงรุก
สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนางานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที และมิติที่ 3
การมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัยโดยเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถและมีคุณธรรม
นอกจากนี้องค์การสามารถเชิญบุคลากรที่มีความรู้มาในการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนให้แก่ประชาชนได้
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ สอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 ใน 3 มิติ
ได้แก่มิติที่ 1
ภาครัฐจะต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกันโดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงานทุกกระบวนการสามารถเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ
มิติที่ 2 การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นการออกแบบงานตามแนวคิดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
และนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานเพื่อให้ประหยัดเวลาและต้นทุนในการทำงาน และมิติที่ 3
การมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัยโดยเน้นการนำเอาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการประหยัดเวลาและต้นทุน
โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ สอดคล้องกับระบบราชการ 4.0 ใน 2 มิติ
ได้แก่ มิติที่ 2 การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมิติที่ 3 การมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย
โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงาน บรรลุเป้าหมาย
เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้
ยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร
เทคโนโลยี Cloud Big data Robotics Machine Learning AI และอื่น ๆ
ที่นำมาช่วยในการพัฒนาการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็ว
แต่การพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่ทำให้บุคลากรในองค์การพัฒนาตนเองไปไม่ทัน
ย่อมทำให้เกิดจากสภาวะ Digital disruption
หากหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในประเด็นดังกล่าว
อาจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคนี้ได้ หน่วยงานภาครัฐจึงต้องปรับปรุงบทบาทหน้าที่
ทบทวนภารกิจของหน่วยงานว่าสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน
สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ และต้องสร้างนวัตกรรม
รวมถึงส่งต่อองค์ความรู้ที่สำคัญแก่บุคลากรรุ่นต่อไป ดังนั้น
สิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญสูงสุดในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือ
บุคลากรในองค์การ ที่ต้องมีการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
ตระหนักรู้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนาองค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การประยุกต์ใช้แนวคิดระบบราชการ 4.0 กับภารกิจของ กอ.รมน.
จากแนวคิดระบบราชการ 4.0 ดังกล่าว กอ.รมน.
ในฐานะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐในการอำนวยการ ประสานงาน
ปฏิบัติการและกำกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่น ๆ
ของรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงขับเคลื่อนแผนแม่บทย่อยด้านการรักษาความสงบภายในประเทศและแผนแม่บทย่อยด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง
โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและแผนแม่บทในภาพรวมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในระดับชาติ
ซึ่งปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงในปัจจุบันมีความหลากหลายและมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ
จึงอาจทำให้ภารกิจด้านความมั่นคง ดูเป็นเรื่องไกลตัวของประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว
การรักษาความมั่นคงปลอดภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนอย่างมาก การนำแนวคิดระบบราชการ 4.0
มาประยุกต์ใช้ กอ.รมน.ต้องมีการปรับบทบาทใหม่เพื่อนำเสนอการทำงานให้สามารถ “เข้าถึง”
ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผลสูงขึ้น เช่น ในปัจจุบันมีการปล่อยข่าวลือ (Fake News)
เพื่อโจมตีทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว
และประชาชนขาดความตระหนักรู้ อาจเชื่อไปโดยง่าย
หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องมีแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างทันท่วงที
ด้วยการใช้ศักยภาพทางเทคโนโลยีในการระงับยับยั้งไม่ให้มีการเผยแพร่
รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจ ความจงรักภักดีแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง
ซึ่งการทำงานในลักษณะดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ
ด้วยการนำข้อมูลมาใช้งานร่วมกัน มีการวางแผนและการคาดการณ์ในการรับมือปัญหา
ร่วมถึงทำงานเชิงรุก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูล ที่ถูกต้อง จัดการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว
รวมถึงใช้ศักยภาพของบุคลากรในองค์การให้สอดคล้องกับหน้าที่ จากตัวอย่างที่ยกมานี้
การทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน
ผ่านช่องทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย กอ.รมน. จะต้องใช้เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
(PMQA4.0) มาเป็นเครื่องมือประเมินสถานะขององค์การ
ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ 4.0 หรือไม่
โดยสามารถตรวจระบบการบริหารขององค์การในเชิงบูรณาการทั้งระบบ ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้
หมวด 1 การนำองค์การ พิจารณาว่า
ทั้งวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ว่าเชื่อมโยงพันธกิจ การสร้าง
ความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
การมีส่วนร่วมทั้งภายในและภายนอกองค์การ
รวมถึงการคำนึงถึงผลลัพธ์ขององค์การว่ามีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ พิจารณาว่า
องค์การมีแผนยุทธศาสตร์ที่ท้าทาย และมีนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับพันธกิจและยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่
การบูรณาการแผนงานที่สามารถขับเคลื่อนไปทุกภาคส่วนได้ รวมถึงการตรวจสอบ การติดตาม
การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พิจารณาว่า
การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น
การเข้าถึงระบบข้อมูลสารสนเทศขององค์การ การประเมินผล ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การให้บริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล รวมถึงการแก้ไข
ข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างรวดเร็ว
หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ พิจารณาว่า
การกำหนดตัววัดเพื่อติดตาม การทำงาน โดยนำเอาข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหา
และเก็บเป็นฐานข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี
มาวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้เป็นองค์ความรู้ขององค์การต่อไป
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล พิจารณาว่า
การสร้างระบบพัฒนาบุคลากรให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์และสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม
มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
มีวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นความร่วมมือร่วมใจ สร้างความตระหนักในหน้าที่
และมีค่านิยมที่รักการเรียนรู้ ในสิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ พิจารณาว่า
กระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่ามีผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือไม่
มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานและสร้างนวัตกรรม
เพื่อลดต้นทุนในการใช้ทรัพยากรเพื่อให้การทำงานขององค์การมีประสิทธิภาพ
หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ
เป็นหมวดที่สำคัญที่จะพิจารณาถึงการวัดการทำงานทั้ง 6 หมวด
เพื่อสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการกระบวนการ การพัฒนา สร้างเป้าหมายที่สำคัญ
การแก้ไขปัญหาที่จะบรรลุเป้าหมายของผลลัพธ์ได้ดีมากขึ้น
การประเมินองค์การโดยใช้ PMQA4.0
เป็นการมองในภาพรวมของการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่ง
กอ.รมน. เองจะต้องเน้นย้ำในบทบาทหน้าที่ขององค์การให้ชัดว่า
องค์การมีหน้าที่ในการตอบสนองพันธกิจและยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร
และมีแผนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีได้
ดังนั้น
การพัฒนาทักษะของบุคลากรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีจะเป็นการสร้างบุคลากรให้เป็นทรัพย์สินที่มีค่า
หากได้รับการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
Reskill & Upskill: สร้างและเสริมทักษะการทำงานที่ทันสมัยให้คน กอ.รมน.
แม้ว่าปัจจุบัน กอ.รมน. อยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างใหม่
และเปลี่ยนบทบาทจากผู้ปฎิบัติด้านงานความมั่นคงมาเป็นผู้ให้คำแนะนำ (Coaching)
ในส่วนของมาตรการ แผนงาน/โครงการ
จึงยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อระบบโครงสร้างใหม่รวมทั้งระบบราชการ 4.0
เพื่อให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ กอ.รมน.
ควรต้องพิจารณาเตรียมการปรับแก้เป็นสิ่งแรก คือ
การปรับบทบาทและการสร้างแนวคิดความตระหนักถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลให้กับบุคลากร
ซึ่งมีวิธีการหนึ่งที่สำคัญในการปรับบทบาทของบุคคลากรเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลในการทำงานยุคปัจจุบัน
คือการ “Reskill และ Upskill” การ Reskill6 หมายถึง “การเพิ่มทักษะใหม่ ๆ
ที่ไม่เคยมีมาก่อนของกำลังพล เช่น การจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล การทำงานแบบ Agile
การใช้นวัตกรรมต่างๆ
เพื่อสามารถทำงานอย่างสอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดจนแนวโน้มการทำงานที่จะเป็นไปในอนาคต”
สำหรับการ Upskill หมายถึง
“การพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งมากขึ้นให้สามารถปรับใช้ในบริบทใหม่ที่เกิดขึ้นได้”
จากบริบทดังกล่าวแล้ว การ “Reskill และ Upskill”
ถือเป็นประเด็นสำคัญที่บุคลากรต้องมีความเข้าใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างขององค์การภาคเอกชนไทยที่มีการพูดถึงการ “Reskill และ
Upskill” เช่น ฤทัย สุทธิกุลพานิชผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด
(มหาชน) ได้กล่าวในงาน "การอัพเกรดทักษะทรัพยากรคนภายในองค์กรท่ามกลางวิกฤติดิสรับชัน”
ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราควรจะปรับตัวเองทุก 4-5 ปี ทำให้คนเรียนรู้ตลอดเวลา
และโตไปพร้อมกับบริษัทได้ หาสกิลคนของเรา หาเครื่องมือใหม่ๆ
มาพัฒนาให้เข้ากับเป้าหมายนอกจากนี้ควรจะหยุดคำว่า “ไม่รู้ ไม่ได้ ไม่เป็น”
และพยายามทำให้เกิดการเข้าถึงความรู้ หาทางทำอย่างไรให้คนไทยสามารถ Reskill และ Upskill
ที่เป็นที่ต้องการในอนาคตได้” อีกหนึ่งความคิดเห็นจากกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร ดร.ศรายุธ
แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
ที่ได้กล่าวว่า "สังคมเปลี่ยนโลกเปลี่ยนถ้ายึดการพัฒนาคนแบบเดิมจะไม่สามารถขยายผลได้
ถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้องค์กรเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น และทำให้พัฒนาประเทศได้ในที่สุด”
จากตัวอย่างแนวความคิดของสองบริษัทภาคเอกชนข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งมีค่า
การปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับกระแสเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสำเร็จได้นั้น
ต้องพึ่งพาบุคลากรเป็นสำคัญ
ดังนั้น กอ.รมน.
ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการปรับเปลี่ยนองค์การให้สอดคล้องกับระบบราชการ 4.0
โดยใช้การประเมินองค์การโดยใช้เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA 4.0) เป็นเครื่องมือ
และสอดคล้องกับแนวคิด Balanced Scorecard (BSC)
ที่ใช้ในการประเมินองค์การเพื่อปรับกลยุทธ์ขององค์การ ซึ่งองค์ประกอบของ BSC 4 มุมมอง
ได้แก่ มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective)
ที่พิจารณาว่าหากองค์การจะประสบความสำเร็จด้านการเงิน ผู้บริหารจะต้องทำอย่างไร
มุมมองทางด้านลูกค้า (Customer Perspective)
พิจารณาถึงการบริหารกิจการให้บรรลุเป้าหมายขององค์การว่าต้องทำอย่างไร
มุมมองทางด้านกระบวนการภายใน (Internal Business Process)
พิจารณาถึงการจัดการภายในที่มีคุณภาพที่ทำให้ผู้บริหาร
และผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจทำอย่างไร โดยใช้เกณฑ์คุณภาพ (Quality),
ระยะเวลาในการผลิตสินค้าและบริหาร (Response Time), ต้นทุน (Cost),
และการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด (New Product Introduction)
และมุมมองทางด้านการเรียนรู้และพัฒนา (Learning and Growth)
พิจารณาจากแนวทางที่พัฒนาและปรับปรุงองค์การเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน
โดยตรวจสอบจากความพึงพอใจการทำงานของบุคลากร และระบบข้อมูลสารสนเทศ กอ.รมน.
จำเป็นต้องผนึกแนวทางการจัดการและองค์ความรู้ทั้งสามประเด็นดังกล่าวแล้วนั้นเข้าด้วยกัน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์การตามแนวคิดระบบราชการ 4.0 ให้ได้ สิ่งสำคัญที่ กอ.รมน.
ควรเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของการ “Reskill และ Upskill” ภายใน กอ.รมน. คือ
การให้บุคลากรของ กอ.รมน. มีทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี
และสอดคล้องกับการนำองค์การไปสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 นั้น คือ
ควรมีการพิจารณาระบุแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร โดยวิเคราะห์ถึง
“ทักษะที่จำเป็น” ยุคใหม่ของบุคลากรของทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง
เพื่อนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมในการฝึกอบรม
เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นเหล่านั้นให้อยู่ในยุคดิจิทัล และเป็นไปตามแนวคิด Reskill &
Upskill โดยให้เหมาะสมกับระดับของบุคลากร
บทสรุป
เมื่อเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน
ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาให้เท่าทันและมีวิสัยทัศน์
ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมแล้วด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปภาครัฐ 4.0
อีกทั้งในบริบทของสังคมมีความตื่นตัวในการสร้างและเสริมทักษะใหม่ๆ ให้แก่คนทำงานที่เรียกว่า
"reskill & upskill" บุคลากรใน กอ. รมน. ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องตื่นตัว
และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกระบวนการทำงานให้พร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ
ให้เป็นไปตามเป้าหมายของการปฏิรูประบบราชการ 4.0 ดังกล่าว
ด้วยการสำรวจถึงทักษะที่จำเป็นของกำลังพลทุกหน่วยงานในการพัฒนาไปสู่กระบวนการทำงานที่ทันสมัยในยุคดิจิตัล
การกำหนดหลักสูตรการอบรมที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนการกำหนดแผนงาน/โครงการ
ในการพัฒนาหน่วยให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการ และการประเมินหน่วยงานด้วยระบบ PMQA4.0
เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไปด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. ราชกิจจานุเบกษา134 (6 เมษายน
2560) : หน้า 19
2. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ. ระบบราชการ 4.0. [Online]. 2561
แหล่งที่มา https://www2.opdc.go.th/uploads/files/2560/ThaiGov4.0_2.pdf สืบค้นเมื่อวันที่
6 มกราคม 2563
3. สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 – 2580
(ฉบับประกาศราชกิจจานุเบกษา) (กรุงเทพฯ:,2561),หน้า 4
4. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ. ประเทศไทย 4.0 - ระบบราชการ 4.0.
[Online]. 2561 แหล่งที่มา https://opdc.go.th/file/reader/MVl8fDQyfHxmaWxlX3VwbG9hZA
สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
5. ธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์. การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0
[Online]. 2560 แหล่งที่มา https://www.opdc.go.th/file/reader/dXx8Mzk2OXx8ZmlsZV91cGxvYWQ
สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
6. Bottom line. RESKILL ทางรอดคนทำงานยุคดิจิทัล
ขยันอย่างเดียวไม่พอถ้าอยากมีที่ยืนในโลกทำงานยุคใหม่ต้องหมั่นเสริมทักษะเพื่อก้าวข้ามการดิสรับชันของยุคสมัยที่มาแบบหายใจรดต้นคอ
[Online]. 2562 แหล่งที่มา https://bottomlineis.co/Business_Work_Career_Reskill_Corporate
สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563
7. ทฤษฎีองค์การและการจัดการเชิงกลยุทธ์ชั้นสูง [Online]. 2555 แหล่งที่มา
http://promrucsa-dba04.blogspot.com/2012/10/bsc.html?m=1 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม
2563